โครงการบริหารตำแหน่งและคาดการณ์เวลาเข้าป้าย
งานวิจัยและพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างระบบนิเวศสำหรับรวบรวมข้อมูลตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะจากพลังมวลชน (Crowd Sourcing) จากผู้เดินทาง
ในที่นี้ผู้เดินทางจำเป็นต้องมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ (smart phone) ซึ่งติดตั้งโปรแกรมประยุกต์สำหรับรายงานตำแหน่ง (จาก GPS เซ็นเซอร์ในโทรศัพท์หรือจาก cell tower) และสถานะรถ (เช่น เสียหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยผ่านแบบฟอร์มของโปรแกรม)
การรายงานข้อมูลโดยพลังมวลชนดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับและไม่กระทบค่าบริการอินเทอร์เน็ตของผู้เดินทางมากนักเนื่องจากข้อมูลที่ส่งมีปริมาณเล็กน้อย (ตำแหน่งรถ สายรถ และสถานะรถ) และยังสามารถกำหนดให้ส่งข้อมูลเฉพาะเมื่อเกิดการเดินทาง อย่างไรก็ตามเนื่องจากการรายงานในลักษณะอาสาสมัคร การรวบรวมข้อมูลจากพลังมวลชนจึงมีจุดอ่อนคือความไม่แน่นอนในการรายงานข้อมูล การพัฒนาแนวทางดำเนินการสำหรับการดังกล่าวจึงต้องมุ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับสู่ผู้ใช้หรือสร้างแรงจูงใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรายงานข้อมูล ตลอดจนต้องขยายฐานการใช้งานเพื่อให้มีผู้รายงานข้อมูลที่สามารถทดแทนกันได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง พบว่าการชักจูงให้มวลชนติดตั้งแอ๊พพลิเคชั่นและแบ่งปันข้อมูลนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้เวลาดำเนินการนานและมีความไม่แน่นอนสูง ทีมวิจัยได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแผนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลตำแหน่งรถเมล์เป็นการติดตั้ง GPS tracking บนสายนำร่องสาย 73ก ก่อนหนึ่งสาย และมุ่งเน้นจุดประสงค์ส่วนที่สองของโครงการเป็นหลักแทนคือบริการตำแหน่งและเวลาเข้าป้ายรถเมล์
ผลจากการเปลี่ยนแนวทางการเก็บข้อมูลดังกล่าว ทำให้ได้รับข้อมูลที่เที่ยงตรง แน่นอนจากรถทุกคันของสาย 73ก มีข้อมูลสำหรับบริการผู้โดยสารและยังสามารถใช้ติดตามบริหารจัดการเดินรถสำหรับ ขสมก. ได้ด้วย โดยนอกจากต้นแบบระบบบริการตำแหน่งและเวลาเข้าป้ายรถเมล์แล้ว ทางทีมวิจัยยังได้พัฒนาต้นแบบระบบบริหารจัดการเดินรถให้กับ ขสมก. อีกด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถขยายผลโครงการออกไปในวงกว้างและสร้างผลกระทบสูงเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
เป้าหมายและผู้ได้รับประโยชน์จากผลงานวิจัย
- มีฐานข้อมูลตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะจากพลังมวลชน ซึ่งสามารถนำไปใช้วิเคราะห์และประมวลผลต่อยอดได้หลากหลายเช่น Origin-destination analysis อุบัติเหตุและสภาพการจราจร
- ผู้ให้บริการรายงานข้อมูลจราจร ได้รับข้อมูลจราจร (ซึ่งแปลงจากข้อมูลตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะ) เพิ่มมากขึ้น
- ผู้พัฒนาโปรแกรมสอบถามตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะ
- ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะได้รับบริการตรวจสอบเส้นทางและรายงานเวลาเข้าป้ายของรถโดยสารสาธารณะ
ที่มาของโครงการ และผลงานที่มีมาก่อน
ในปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถตู้ รถรับส่งพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม รถประจำทาง รถ บขส. เริ่มมีการติดตั้งระบบ vehicle location tracking ด้วย GPS เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ระบบดังกล่าวก็ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อส่งข้อมูลออนไลน์ (เช่นผ่าน Cellular network) มายังเครื่องแม่ข่ายเพื่อการประมวลผล
การติดตามตำแหน่งของยานพาหนะสาธารณะนอกจากจะสามารถทำโดยใช้ GPS แล้ว ยังสามารถทำโดยอาศัยพลังมวลชน (Crowd Sourcing) จากผู้เดินทาง โดยอาศัยโทรศัพท์เคลื่อนที่ (smart phone) ของผู้เดินทางเองซึ่งติดตั้งโปรแกรมประยุกต์สำหรับรายงานตำแหน่ง (จาก GPS ในโทรศัพท์หรือจาก cell tower) และสถานะรถ (เช่น เสียหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยผ่านแบบฟอร์มของโปรแกรม) การรายงานข้อมูลโดยพลังมวลชนดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับและไม่กระทบค่าบริการอินเทอร์เน็ตของผู้เดินทางมากนักเนื่องจากข้อมูลที่ส่งมีปริมาณเล็กน้อย (ตำแหน่งรถ สายรถ และสถานะรถ) และยังสามารถกำหนดให้ส่งข้อมูลเฉพาะเมื่อผู้เดินทางมีการเดินทาง อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อมูลพลังมวลชนเป็นการรายงานในลักษณะอาสาสมัคร การรวบรวมข้อมูลจากพลังมวลชนจึงมีจุดอ่อนคือความไม่แน่นอนในการรายงานข้อมูล การพัฒนาแนวทางดำเนินการสำหรับการดังกล่าวจึงต้องมุ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนกลับสู่ผู้ใช้หรือสร้างแรงจูงใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรายงานข้อมูล ตลอดจนต้องขยายฐานการใช้งานเพื่อให้มีผู้รายงานข้อมูลที่สามารถทดแทนกันได้
โครงการนี้มุ่งวิจัยและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลตำแหน่งรถโดยสารประจำทางจากพลังมวลชน เพื่อใช้สำหรับให้บริการคาดการณ์เวลาเข้าป้ายของรถประจำทาง นอกจาก smart phone แล้วในโครงการนี้ยังจะติดตั้งเซ็นเซอร์เสริม iBeacon[1] บนรถโดยสารสาธารณะเพื่อช่วยระบุสายรถประจำทางและช่วยทำให้อาสาสมัครสามารถรายงานตำแหน่งได้สะดวกมากยิ่งขึ้นเนื่องจากโปรแกรมสำหรับรายงานข้อมูลสามารถถูกกำหนดให้เริ่มต้นทำงานได้เองเมื่ออาสาสมัครเข้าใกล้ระยะสื่อสารของ iBeacon (ประมาณ 20-30 เมตร)
การใช้ข้อมูลจากพลังมวลชนและ iBeacon ร่วมกันดังกล่าวเหมาะกับรถโดยสารสาธารณะเนื่องจากข้อมูลสามารถแบ่งปันให้กับผู้เดินทางท่านอื่นๆ ที่ต้องการรถสายเดียวกันโดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว สามารถออกแบบให้รายงานเมื่อผู้เดินทางสั่งการเท่านั้นหรือรายงานโดยอัตโนมัติเมื่อผู้เดินทางขึ้นรถก็ได้ นอกจากนี้โปรแกรมประยุกต์เพื่อการรายงานข้อมูลยังสามารถออกแบบให้รับข้อมูลเสริมอื่นจากผู้เดินทางได้ เช่น ความหนาแน่นผู้เดินทางบนรถ อุบัติเหตุ รถเสีย พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ความสะอาดและสภาพความพร้อมของการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับผู้เดินทางที่รายงานข้อมูลคือสามารถใช้บริการสอบถามสอบถามเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ ตำแหน่งของรถโดยสารสาธารณะที่ผู้เดินทางกำลังรออยู่ เวลาโดยประมาณที่รถจะมาถึงจุดรับส่งที่ผู้เดินทางต้องการ การปรับเปลี่ยนเส้นทางกรณีพิเศษ และยังใช้ช่วยวางแผนการเดินทางว่าควรจะต้องไปถึงป้ายหรือจุดรับส่งในช่วงเวลาใด
ปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการระบบแสดงข้อมูลตำแหน่งและเวลาเข้าป้ายแก่ผู้ใช้บริการรถสาธารณะแล้วในต่างประเทศ เช่นTiramisu ในสหรัฐอเมริกา[2] Transport London ในอังกฤษ[3] และ SMRT ในสิงคโปร์[4] โดยบางประเทศใช้ข้อมูลจาก GPS Tracking และในบางประเทศใช้ข้อมูลจากพลังมวลชน ส่วนในประเทศไทยได้มีการเริ่มให้ความสนใจและได้พัฒนาระบบแสดงข้อมูลตำแหน่งและเวลาเข้าป้ายมาใช้งานโดยอาศัย GPS แล้วในบางแห่ง เช่น ระบบการติดตามและแสดงตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[5] และระบบการติดตามแสดงตำแหน่งและประมาณเวลาการเข้าป้ายของรถโดยสารสาธารณะ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน[6] อย่างไรก็ตาม ยังมีรถสาธารณะอีกมากที่ยังมิได้มีการติดตั้ง GPS เพื่อรายงานตำแหน่ง เช่น ขสมก. และรถ บขส. และการรายงานตำแหน่งรถโดยสารสาธารณะด้วยข้อมูลจากพลังมวลชนก็ยังไม่มีการศึกษาวิจัยและใช้งานในประเทศไทย
สำหรับโปรแกรมประยุกต์สำหรับผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะนั้น ได้เริ่มมีการพัฒนาในส่วนบริการตรวจสอบเส้นทางการเดินรถเมล์และ/หรือค้นหาสายรถเมล์ที่ผ่านจุดที่ผู้เดินทางสนใจ เช่น ขสมก. เพื่อมวลชน[7] จอดป้ายหน้า[8] สายรถเมล์[9] รถโดยสาร[10] และ สถานี[11] กระนั้นก็ยังไม่มีบริการรายงานตำแหน่งรถเมล์หรือคาดการณ์การเข้าจอดที่ตำแหน่งที่สนใจ
[1]http://en.wikipedia.org/wiki/IBeacon [2]http://www.tiramisutransit.com/ [3]http://countdown.tfl.gov.uk/#/ [4]http://www.smrt.com.sg/Buses/BusArrivalTimes.as [5]http://www.chula.ac.th/about/map-and-direction/cu-shuttle-bus [6]http://www.kusmartbus.com [7]https://play.google.com/store/apps/details?id=air.BMTAtraffic&hl=en [8]https://play.google.com/store/apps/details?id=bubble.busway&hl=en [9]https://play.google.com/store/apps/details?id=com.number.busline&hl=en [10]https://play.google.com/store/apps/details?id=com.bank.busstop&hl=en [11]https://play.google.com/store/apps/details?id=com.touchsi.satanee&hl=en