Multi-GNSS
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลข้อมูล Multi-GNSS เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
Multi-GNSS คือการหลอมรวมการใช้งานระบบ GNSS (Global Navigation Satellite Systems) หลาย ๆ ระบบเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มจำนวนดาวเทียมที่สามารถใช้ในการคำนวณค่าพิกัดตำแหน่ง ในการนี้มีหลายประเทศที่ได้ดำเนินการพัฒนาระบบดาวเทียม GNSS ของตนเอง เช่น สหรัฐ รัสเซีย จีน ยุโรป ญี่ปุ่นและอินเดีย โดยทุกระบบดังกล่าวได้เผยแพร่สัญญาณให้กับสาธารณะชนทั่วโลกได้ใช้งานโดยไม่มีข้อจำกัด ในขณะที่โครงการ Multi-GNSS Asia ได้มีการประเมินว่าภูมิภาค Asia and Oceania เป็นพื้นที่ที่จะมีจำนวนดาวเทียม GNSS มากที่สุดของโลกโดยคาดการณ์ว่าจะมีสูงถึง 35 ดวงอยู่บนน่านฟ้าของภูมิภาคภายในปี 2020
โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำร่องการใช้งานพิกัดความละเอียดและความถูกต้องสูงจาก Multi-GNSS ในประเทศไทย โดยประกอบด้วยสองกิจกรรมหลัก คือ (1) การร่วมพัฒนาเครือข่ายสถานีติดตามดาวเทียม Multi-GNSS ในประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในประเทศไทย และ (2) การทดลองนำ Multi-GNSS มาใช้ติดตามตำแหน่งของรถอย่างละเอียดเพื่อประยุกต์ใช้ในการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนน เช่น การติดตามพฤติกรรมการขับรถ การวิเคราะห์ความปลอดภัยของกายภาพถนน การวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลข้อมูล Multi-GNSS เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สำหรับให้เอกชน ภาครัฐ นักวิจัย ผู้พัฒนาโปรแกรม ตลอดจน นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้าถึงทรัพยากร องค์ความรู้ มาตรฐาน เทคนิคการคำนวณและบริการประมวลผล และสามารถนำไปต่อยอดต่อไปได้ โครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่
Hard Infrastructure เช่น โครงข่ายสถานีและเสาสัญญาณในการถ่ายทอดสัญญาณค่าแก้ในการคำนวนพิกัดความถูกต้องสูง Soft Infrastructure เช่น มาตรฐานการเก็บ การแลกเปลี่ยน และการประมวลผลข้อมูล, Algorithm ในการวิเคราะห์ลักษณะของถนนที่ไม่ปลอดภัย Service Infrastructure เช่น บริการค่าปรับแก้สามารถคำนวนพิกัดความถูกต้องสูง บริการวิเคราะห์ข้อมูลถนนที่ไม่ปลอดภัย
โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ที่ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนโดยใช้ข้อมูล Multi-GNSS ดังนั้นโครงการจึงมีเป้าหมายหลักดังนี้
- ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการพัฒนาโครงสร้างพืนฐานและส่งเสริมให้เกิดการรวบรวมและใช้งานข้อมูลพิกัดตำแหน่งความถีและความถูกต้องสูงจาก Multi-GNSS
- เพื่อพัฒนาแนวทางการได้มาและใช้ข้อมูล Multi-GNSS ที่ความถี่และความถูกต้องระดับต่าง ๆ
- เพื่อพัฒนาแนวทางในการจัดเก็บ ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล Multi-GNSS
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงความสามารถและผลกระทบของเทคโนโลยี Multi-GNSS ต่ออุตสาหกรรม location and tracking
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดและนำผลงานไปใช้ในภาคสังคมและอุตสาหกรรม
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและใช้งานค่าพิกัดความถูกต้องสูงจาก Multi-GNSS ได้รับการยอมรับว่าสามารถส่งผลในทางบวกแก่เศรษฐกิจอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ผลการศึกษา (Allen Consulting Group, 2013) โดยบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในออสเตรเลียประเมินว่าผลประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์ที่จะได้รับจากการใช้งาน GNSS ความถูกต้องสูงน่าจะอยู่ในช่วง 6,675 ถึง 12,636 ล้านดอลลล่าร์สหรัฐ สำหรับสามอุตสาหกรรมรวมกัน คือ การเกษตร การเหมืองแร่ และการก่อสร้าง สหรัฐอเมริกาประเมินว่า GNSS สามารถช่วยประหยัดต้นทุนการทำธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางและขนส่งภาคพื้นดินได้ถึง 30.2 พันล้านดอลลล่าร์ (คิดสะสมจากปี 2008 ถึงปี 2018) สหภาพยุโรปคาดการณ์ว่าระบบ GNSS ของตน (Galileo) จะสามารถสร้างรายได้สะสมจากตลาดโลกในช่วงปี 2005-2030 ได้ประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ ให้กับบริษัทเอกชนของยุโรปและยังเพิ่มอัตราการจ้างงานอย่างน้อย 1,400 ตำแหน่งสำหรับอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Galileo infrastructures and operations) และอีก 17,000 ถึง 21,000 ตำแหน่งสำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Galileo product manufacturers and service providers) ในช่วงปีดังกล่าว
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะมิได้เป็นผู้พัฒนาระบบดาวเทียม GNSS ด้วยตัวเองโดยตรง แต่การใช้งาน GPS (ระบบ GNSS ระบบแรกของโลก) ก็มีอยู่แล้วมายาวนานในหลายอุตสาหกรรม เช่น การสำรวจรังวัด การทำแผนที่ และการติดตามยานพาหนะ อย่างไรก็ตาม การตระหนักถึงการใช้งาน GNSS หลาย ๆ ระบบร่วมกัน ตลอดจนการพัฒนาและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเพื่อให้การคำนวณค่าพิกัดจาก GNSS สามารถทำได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลงเป็นสิ่งจำเป็นและควรได้รับการส่งเสริม แนวคิดนี้สามารถยืนยันได้ด้วยกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ในเวทีโลก ดังจะเห็นได้จากการที่องค์การสหประชาชาติ ได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะเกี่ยวกับ GNSS ชื่อว่า International Committee on GNSS (ICG) ขึ้นตั้งแต่ปี 2005 โดยมีการดำเนินกิจกรรมและความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จุดประสงค์ในการจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวคือเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้าน GNSS ภายในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการใช้งาน GNSS ให้แพร่หลายและได้ประโยชน์สูงสุด